Connect with us

คอลัมน์เสียงแรงงาน

“ วิกฤตโควิด-19 ผลกระทบมหาศาล ”

บทความ “เสียงแรงงาน” โดย ” บุญประทานคลินิกเวชกรรม “

ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  จะส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ถือเป็นระดับที่สูงกว่าทุกวิกฤตการณ์ในอดีตของไทย  เนื่องจากผลกระทบครั้งนี้กินวงกว้างกว่าและมีการหยุดชะงักฉับพลัน (sudden stop) ของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเกษตรอาจไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซับคนตกงานจากภาคอื่นๆ ได้เหมือนในอดีตจากปัญหาภัยแล้ง

ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ยังบอกอีกว่า ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญสภาวะวิกฤตที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัดจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยมีความรุนแรงเป็นพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว โดยวิกฤตดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงาน ซึ่งมีสัญญาณความอ่อนแอมาตั้งแต่ในช่วงก่อนหน้า โดยกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูงคือ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง SMEs ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 62% ของกำลังแรงงานไทย และมีความอ่อนไหวสูงต่อสภาวะเศรษฐกิจ

            ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ประเมินว่าจำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ซึ่งจะคิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณ 8-13% ของกำลังแรงงานรวมปัจจุบัน ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาในปี 1985 โดยจะสูงกว่าสถิติอัตราการว่างงานสูงสุดเดิมที่ 5.9% ในปี 2530 ทิ้งห่างอัตราการว่างงานในวิกฤติต้มยำกุ้งที่ 3.4% ในปี 2541 และในวิกฤตการเงินโลกปี 2551-2552 ที่ 1.5% ในปี 2552″

            สาเหตุที่การว่างงานในครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าในอดีตเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีความเปราะบางสะสมตั้งแต่ในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับมีมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งจำเป็นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคแต่ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคเกษตรที่เคยเป็นแหล่งดูดซับแรงงานก็มีแนวโน้มที่จะมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่นั้นในครั้งนี้จากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง

            อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีแรงงานอีกจำนวนมากจะไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมาก หรือกระทั่งไม่มีรายได้เลยในบางช่วง ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวแบบ U shape และผลจากโควิด-19 ที่จะยังมีอยู่ตราบใดที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีน โดยความเสี่ยงในตลาดแรงงานมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องไปยังคุณภาพชีวิตของภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบางอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยครัวเรือนไทยประมาณ 60% มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายเกิน 3 เดือน

People wear protective masks at a BTS Sky train station in Bangkok, Thailand, 28 January, 2020Thai health officials are stepping up monitoring and inspection for the new SARS-like coronavirus after the Public Health Ministry confirmed fourteen cases in the country. The virus has so far killed at least 106 people and infected around 4,599 others, mostly in China. (Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images)

            “การสูญเสียรายได้-ตกงานของแรงงานจะนำไปสู่ความเดือดร้อนของครัวเรือนจำนวนมากจากกันชนทางการเงินที่มีไม่มาก จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2562 พบว่า ครัวเรือนไทยที่พึ่งพารายได้จากการทำงานเป็นลูกจ้างอย่างเดียวมีจำนวน 7.9 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นประมาณ 36.2% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งในกลุ่มนี้มีจำนวนถึง 5.2 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 65.5% ของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวที่มีมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมรายจ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน และหากเป็นครัวเรือนที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีครัวเรือนจำนวนถึง 4.3 ล้านจากทั้งหมด 5.8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 72.9% ที่มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย 3 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ครัวเรือนเหล่านี้อาจต้องปรับตัวโดยการลดการบริโภคลงอย่างมาก ตลอดจนขายหรือจำนองสินทรัพย์ที่มี ไปจนถึงการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายอันจะเป็นการสร้างความเปราะบางเพิ่มเติมในระยะต่อไป”

Continue Reading
Advertisement
Advertisement

Copyright © 2020 ChonburipostOnline.Office 150/12 Village No.2 Surasak, Sriracha, Chonburi, 20110, Tel. 089 931 2068, Fax 038 328 438 Powered Tro BangKrea.