ท่องเที่ยว
สวนสัตว์ฯเขาเขียว สุดยอดๆๆ ฟื้นฟู นกกระสาคอขาว ได้สำเร็จ พร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่ จ.บุรีรัมย์
หนังสือพิมพ์ชลบุรีโพสต์ออนไลน์ (www.chonburipostonline.com) โดยทีมข่าว “ โต บางแค ” โทร. 089 931 2068
นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ยืนยันว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการวิจัย “การฟื้นฟูพฤติกรรมนกกระสาคอขาว และ การทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ” ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ. บุรีรัมย์ หนึ่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มรดกโลกได้สำเร็จ
วันนี้ (21 มี.ค.65) นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการวิจัย “การฟื้นฟูพฤติกรรมนกกระสาคอขาวและการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ” ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ. บุรีรัมย์ หนึ่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มรดกโลก ดินแดนแห่ง “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม เลิศล้ำเมืองกีฬา” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) และบริษัทแปซิฟิค เฮลธ์ แคร์ จำกัด เพื่อให้นกกระสาคอขาวที่เป็นนกกระสาขนาดกลางที่แทบไม่พบแล้วในธรรมชาติของประเทศไทยได้ฟื้นฟูประชากรขึ้นได้ใหม่อีกครั้ง
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สวนสัตว์เปิดเขาเขียว องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย มีการใช้กระบวนการศึกษาวิจัยและใช้เวลานานหลายสิบปีจึงประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์นกกระสาคอขาวจากจำนวนไม่กี่ตัว จนมีฐานประชากรนกกระสาคอขาวที่มั่นคง มีจำนวนมากพอและมีองค์ความรู้ที่จะจัดทำโครงการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อกู้วิกฤติก่อนการสูญพันธุ์ครั้งนี้ รวมถึงคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และสร้างต้นทุนให้กับพื้นที่ธรรมชาติที่ทำการปล่อยสำหรับสรรพชีวิตต่าง ๆ
การนำนกกระสาคอขาวปล่อยคืนสู่พื้นที่ธรรมชาติถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน ท้าทาย และต้องใช้เวลาดำเนินงานนานมาก นักวิจัยและทีมงานกลุ่มเล็ก ๆ ต้องพยายามเก็บข้อมูลหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูพฤติกรรมตามธรรมชาติให้นกกระสาคอขาวที่เกิดและเติบโตในสภาพการเพาะเลี้ยงอยู่นานกว่า 3 ปี การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ การดำเนินงานการขออนุญาตที่เป็นไปตามกฎหมาย การดำเนินการปล่อยที่เป็นไปตามแนวทางการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติของ IUCN SSC และ AZA Guideline ตลอดจนการศึกษาเทคนิคที่จะใช้ในการติดตามตัวสัตว์ที่เหมาะสม
โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2563 สวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้เริ่มทดลองปล่อยนกกระสาคอขาวที่ได้รับการฟื้นฟูพฤติกรรมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่สวนสัตว์ฯ จำนวน 6 ตัว ในจำนวนนี้ 1 ตัว ได้แบกสัมภาระที่เป็นอุปกรณ์ติดตามตัวขนาดเล็กไปด้วย จำนวน 1 เครื่อง (แบบว่าไปไหนมาไหนเราจะทราบ) เพื่อการทดสอบความเป็นไปได้ทางเทคนิคต่าง ๆ และการศึกษานิเวศการแพร่กระจายภายหลังการปล่อย ข้อมูลที่ได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการปล่อย ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์ในเวลาต่อมา ซึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการประเมินจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว และ สำนักอนุรักษ์ และวิจัย องค์การสวนสัตว์ฯ แล้วว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม
และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 นกกระสาคอขาวที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 14 ตัว ถูกเคลื่อนย้ายเข้าสู่กรงพักสัตว์ที่เป็นกรงเตรียมปล่อย (กรง soft release) ที่สร้างขึ้นมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ ณ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้นกมีการปรับตัวและเรียนรู้สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่จะเป็นบ้านแห่งใหม่ให้กับพวกเค้าในเวลาต่อมา จากจำนวน 14 ตัวนี้มีนกเพศผู้ 2 ตัว รับบทนำเครื่องระบุพิกัดตำแหน่ง GPS ขนาดเล็กติดตัวไปด้วย
และใน วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งตรงกับ วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เหล่านกกระสาคอขาวทั้ง 14 ตัว ที่กล้าแกร่งมากเพียงพอแล้วจึงได้เริ่มออกโบยบินสู่ธรรมชาติอันกว้างใหญ่เป็นครั้งแรกของชีวิต ถึงตอนนี้แม้จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการออกเดินทางอันแสนยาวไกลของเหล่านกกระสาคอขาว แต่ทีมงานวิจัยจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวและพันธมิตรกลุ่มเล็ก ๆ นี้ก็หวังว่าคนไทยทุกท่านจะช่วยกันส่งกำลังใจให้กับนกกระสาคอขาวตัวน้อยที่เป็นกลุ่มตัวแทนของพี่น้องนกกระสาคอขาวอีกหลายสิบชีวิตที่กำลังอยู่ระหว่างการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอย่างขะมักเขม้น ในการเข้าต่อสู้กับวิกฤติการสูญพันธุ์ในประเทศไทย ให้พวกเค้าได้รับโอกาสในการอยู่รอด มีการแพร่กระจายตั้งต้นเผ่าพันธุ์ใหม่ในบ้านตามธรรมชาติของพวกเค้าได้อีกครั้ง
โต บางแค ……….. เรียบเรียง / สมชาย ส่งเสริม ( ง้วน เขาเขียว ) ………. รายงาน