ข่าวเด่น
เปิดตัวศิลปินน้อยผู้สร้างผลงาน“นิทานจากเด็กน้อย By mochi ”แปล 4ภาษาป้อนเด็กทั่วโลก
ชลบุรีโพสต์ออนไลน์ (www.chonburipostonline.com)
โดยทีมข่าว “ โต บางแค ” โทร. 089 931 2068
พลังรักเปลี่ยนวิกฤตลูกน้อยสู่ผู้สร้างผลงาน “นิทานจากเด็กน้อย By mochi ”แปล 4ภาษาหาทุนช่วยเด็กพิการซ้ำซ้อน มูลนิธิพระบาทน้ำพุและโรงพยาบาลฯ สร้างกำลังใจพ่อแม่ที่ลูกมีปัญหาทางร่างกาย
โดยครอบครัว “เลิศศรีจตุพร” ถือเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่เคยประสบปัญหาความไม่ปกติของลูกน้อยจนนำสู่การแก้ไขอย่างทันท่วงที วันนี้สามารถผลิตศิลปินเด็กที่สร้างสรรค์ผลงาน “นิทานจากเด็กน้อย By mochi )” เพื่อให้บรรดาคุณพ่อ-คุณแม่ได้มีนิทานอ่านให้ลูกน้อยฟัง รวมทั้งบรรดาเด็กๆ ก็ยังได้อ่านนิทานจากผู้เขียนวัยเดียวกัน โดย ด.ญ. นภัสร์รดา เลิศศรีจตุพร หรือ น้องโมจิ วัย 8 ปีที่ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติ Wellington College Bangkok ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ได้สร้างสรรค์นิทานเด็กที่มีการแปลถึง 4 ภาษาคือภาษาไทย จีน อังกฤษ และญี่ปุ่น ให้เด็กๆ ในวัยเดียวกันได้อ่านจากจินตนาการกว้างไกลที่พัฒนามาจากความชื่นชอบในศิลปะจนสามารถวาดภาพประกอบนิทานได้เองทั้งเล่ม
วันนี้มีผลงานวางจำหน่ายในร้านนายอินทร์ทุกสาขา รวมทั้งในเพจ“นิทานจากเด็กน้อย By mochi” ,Lasada , shoppy รวมทั้งเพจของ BB food thailand รวมทั้งที่เบบี้จีเนียส สาขาพาราไดร์ พาร์ค กรุงเทพฯ แล้วถึง 3 เล่มประกอบด้วย แม่ไก่ออกไข่ไม่เป็น ,มังกรผู้โชคร้าย และบรอนโต แบรคิโอซอรัส ไม่อยากกินใบไม้ ส่วนเล่มที่ 4 กำลังจะออกสู่แผงในเร็วๆ นี้
นายณัฐพล เลิศศรีจตุพร และ นางศุภศิริ โฆธิพันธุ์ คุณพ่อและคุณแม่ของน้องโมจิ บอกว่าก่อนจะมีวันนี้ครอบครัวต้องผ่านความทุกข์ใจจากปัญหาลูกน้อยมีอาการกล้ามเนื้อมืออ่อนแรงจนไม่สามารถหยิบจับอะไรได้เช่นเด็กปกติทั่วไปตั้งแต่วัยเพียง 5 เดือน แต่ด้วยความช่างสังเกตคุณแม่จึงพบความผิดปกติได้เร็วและนำสู่การแก้ไขผ่านคำแนะนำของแพทย์หลายท่าน กระทั่งค้นพบความพิเศษในตัวลูกน้อยจากการใช้วิชาศิลปะบำบัดจนกลายเป็นศิลปินตัวน้อยในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้นครอบครัวนี้ยังนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่ายนิทานช่วยเหลือบ้านเด็กพิการซ้ำซ้อน และบริจาคร่วมมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อีกทั้งมูลนิธิพระบาทน้ำพุ จนได้รับความเมตตาจากหลวงพ่ออลงกต เขียนคำนิยมประกอบนิทานในเล่มที่ 2
นางศุภศิริ โฆธิพันธุ์ คุณแม่น้องโมจิ บอกว่าได้เริ่มสังเกตเห็นพัฒนาการของลูกในช่วง 5 เดือนที่ไม่สามารถใช้มือได้เหมือนเด็กทั่วไปคือไม่สามารถใช้มือขยำ ฉีกกระดาษ หรือทิชชูได้ตามพัฒนาการของเด็ก และรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถใช้ช้อนตักอาหารเข้าปากได้ จึงเริ่มปรึกษาแพทย์จนได้ข้อสรุปตรงกันว่าลูกนอกจากจะเป็นเด็กถนัดซ้ายแล้วกล้ามเนื้อมือยังมีภาวะอ่อนแรง
“ หลังได้ปรึกษาคุณหมออย่างจริงจังก็เริ่มขั้นตอนการแก้ไขกล้ามเนื้อมือด้วยนักกายภาพบำบัดเด็กและดูแลเองที่บ้านรวมถึงให้ลูกได้เริ่มหัดนวดแป้ง เล่นของบ่อยขึ้น ซึ่งภาวะเช่นนี้คุณหมอให้คำแนะนำว่าต้องใช้เวลานานในการรักษาและผู้ที่อยู่รอบข้างต้องให้เด็กพยายามใช้มือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเองอย่างน้อย 5 ปี ”
โดยคุณแม่ได้เริ่มให้ลูกน้อยหัดจับปากกาและดินสอ ขีดเขียนซึ่งในครั้งแรกยังทำไม่ได้เพราะเมื่อจับปากกาแล้วร่วง ส่วนการขีดเขียนก็เริ่มจากไม่ตรง ไม่เป็นเส้นสู่ความเป็นระเบียบมากขึ้นจนกระทั่งประมาณ 3-4ขวบจึงเริ่มให้ได้เรียนศิลปะ และระบายสีด้วยสีน้ำและสีเทียน ที่มีความอ่อนทำให้เด็กน้อยสามารถบังคับมือได้มากขึ้น
“ แต่สิ่งที่เราค้นพบมากกว่านั้นคือ ลูกกลับสามารถอยู่กับหนังสือ ได้นานๆโดยไม่เบื่อและทำงานศิลปะได้ทุกวันโดยไม่เบื่อเช่นกัน จนวันหนึ่งสังเกตเห็นว่าลูกอยู่บ้านแล้วนำกระดาษเปล่ามานั่งขีดเขียนเป็นเวลานาน 2-3ชั่วโมงและยังสามารถวาดรูปต่างๆได้มากขึ้นจากนั้นก็เริ่มสร้างนิทานของตัวเองจากการท่องจำ ก.ไก่-ฮ.นกฮูกในแบบที่พ่อแม่สอน แต่ลูกกลับนำมาผูกเป็นเรื่องราวเริ่มต้นจากตัวแม่ไก่ซึ่งเป็นสัตว์ไปถึงตัว ฮ.นกฮูก และสามารถเล่านิทานเรื่องเดิมได้ซ้ำๆ กันโดยไม่ผิดเพี้ยนนานถึง 3 เดือน”
นางศุภศิริ หรือคุณเบียร์ บอกว่า น้องโมจิ สามารถสร้างพล็อตเรื่องนิทานได้อย่างเป็นระบบจนตนเองแปลกในและได้นำเรื่องไปปรึกษาเพื่อนอยู่หลายคนเนื่องจากเกิดความสงสัยว่าลูกมีความผิดปกติอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ กระทั่งได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ที่นับถือให้ลองอัดเสียงลูกตอนเล่านิทาน และให้เริ่มวาดรูปตัวละครลงบนกระดาษ A4 เพื่อเขียนเป็นนิทานแจกให้เพื่อนในวัยเดียวกันได้อ่าน จนปรากฏว่านิทานที่ลูกเขียนและวาดภาพประกอบกลายเป็นที่ชื่นชอบขอบเพื่อนๆ จนนำมาสู่การทำนิทานเล่มแรกชื่อ “แม่ไก่ออกไข่ไม่เป็น” ที่บอกเล่าถึงความสำคัญของการมีเพื่อนจนสามารถช่วยให้แม่ไก่สาวที่ไม่เคยออกไข่มาก่อน สามารถออกไข่ได้