Connect with us

เศรษฐกิจ

แบงก์ลุย ลดคน-ลดสาขา ยกเครื่องธุรกิจหลังโควิด

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นหนึ่งในธนาคารที่ปรับลดจำนวนพนักงานด้วยการเปิดโครงการ “จากด้วยใจ” โดยจะมีผลในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ทั้งนี้มีการประเมินว่าหลังสถานการ์ไวรัสโควิด-19 บรรเทาลง ธนาคารพาณิชย์จะมีการลดจำนวนพนักงานเพื่อรับมือกับการใช้ชีวิตหรือบริการในรูปแบบวิถีใหม่ หรือ new normal มากขึ้น

               พิษโควิด-19 เขย่าอุตสาหกรรมแบงก์รอบใหม่ “กรุงศรีฯ-เคแบงก์” ประกาศเร่งปรับแผนธุรกิจรับมือ new normal “ตลาดเปลี่ยน-ลูกค้าเปลี่ยน” ปรับกลยุทธ์ใหม่ยกแผง ฉวยจังหวะเร่งสปีดดิจิทัลแบงกิ้งเทรนด์ “กู้ออนไลน์” มาแรง กสิกรฯชูตั้งทีม “Re-imagine” ประเมินภาพอุตสาหกรรมการเงินรับมือชีวิตวิถีใหม่ แบงก์หลังแอ่น “ธุรกิจอ่อนแรง-หนี้เสียพุ่ง” ทุบกำไรทรุดหนักเดินหน้า “ลดคน-ลดสาขา” “ทีเอ็มบี-ธนชาต” ยุบรวมสาขาในพื้นที่เดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเป็นวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ แม้ว่าสถาบันการเงินจะไม่ใช่ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สถาบันการเงินเป็นกลไกแบกรับผลกระทบ โดยเบื้องต้นสะท้อนได้จากผลประกอบการรวม 10 แบงก์พาณิชย์ ไตรมาส 1/63 มีกำไรสุทธิ 44,120 ล้านบาท ลดลง 18.38% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกของแบงก์ยังเห็นผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ไม่ชัด ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 2จะชัดเจนและลดลงมากกว่า 50% เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมหายไปหลายรายการ ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยลดลง รวมทั้งผลจากการพักชำระหนี้ช่วยลูกค้า รวมถึงหนี้เสีย (NPL) ก็ยังไม่นิ่ง และคาดว่าไตรมาส 3-4 ตัวเลขหนี้เสียยังคงปรับขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จะเหลือแค่หลักหมื่นล้านบาท จากปี 2562 อยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านบาท หรือปรับลดลงไปมากกว่า 50%

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างทำแผนธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย โดยคาดว่าในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ จะมีความชัดเจนระดับหนึ่งว่าทิศทางธุรกิจของแบงก์จะเปลี่ยนไปอย่างไร

“ตลาดหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไป โดย market landscape จะหดตัวลง แต่ผู้เล่นใหม่ที่เข้าตลาดมาจะเหมือนเดิม และเรื่อง digital lending จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายภาครัฐ ทำให้ลูกค้ามีความคุ้นชินในการใช้ดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น ธนาคารต่าง ๆ ควรฉวยโอกาสตอนนี้ในการรุกดิจิทัลมากขึ้น โดยธนาคารจะต้องทำเรื่อง market segment ใหม่ วัดกำลังซื้อใหม่ ตลอดจนเตรียมโครงสร้างพื้นฐานระบบหลังบ้านและหน้าบ้าน ทั้งในส่วนของฟีเจอร์โมบายแบงกิ้งและกลยุทธ์การตลาดใหม่”

               “เราเริ่มคิดแผนเกมใหม่ตั้งแต่ปลายปีก่อน เพราะเห็นเหตุการณ์และรูปแบบตลาดเปลี่ยนแปลงไป และยิ่งเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 เข้ามา ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำการบ้านกันอยู่ โดยทำเรื่องมาร์เก็ตเซ็กเมนต์ใหม่ เพราะกลุ่มลูกค้าที่ดีจะหดตัวลง แม้การแข่งขันยังอยู่ในระดับสูง และความต้องการสินเชื่อสูงขึ้น ทำให้ดิจิทัลเลนดิ้งเข้ามามีบทบาทขึ้น แต่แบงก์จะกล้าปล่อยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 ผ่านไป”

ขณะที่  นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า สิ่งที่ทุกองค์กรต้องเตรียมพร้อมในการกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย คือ เรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พนักงาน และเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งต้องมองในภาพรวมทั้งอีโคซิสเต็มตั้งแต่ลูกค้า ซัพพลายเออร์ และผู้ถือหุ้น เพราะหลังโควิด-19 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ตลาด รูปแบบธุรกิจและลูกค้า โดยกสิกรไทยจึงวางแนวทางดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดล 2M6P จะต้องมี 6P คือ 1.product จะเป็นแบบไหน 2.price ราคาจะเปลี่ยนแปลงไปช่วงนี้ต้องไม่เรียกเก็บแพง 3.place การเข้าถึงลูกค้าจะทำอย่างไร เมื่อลูกค้ามาใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราความสำเร็จดีขึ้นมาก และ 4.promotion ทำอย่างไรให้การทำโปรโมชั่นเข้าถึงกลุ่มลูกค้า

และอีก 2P คือ people เป็นเรื่องของพนักงานที่จะต้อง upskill และ reskill เพราะธนาคารไม่อยากให้ใครตกงาน หรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ productivity หลังจากธุรกิจกลับมาเปิด จะเห็น core function ซึ่งสามารถนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการทำงาน ขณะที่ 2M จะเป็นเรื่องของ market และ make it happen ทำให้เกิดขึ้นได้ โดยการปฏิรูปทั้งเรื่องกฎระเบียบกติกาจะเข้ามากระทบอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องคิดและเตรียมการไว้

“เราต้องเตรียมพร้อมกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อโควิด-19 ผ่านพ้นไป และต้องดูว่าอะไรควรกลับมาก่อน จึงต้องมีทีม imagine และ reimagine เพื่อประเมินทั้งอุตสาหกรรม โดยระหว่างนี้เราจะต้องไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคา และมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต้องทำให้เร็วที่สุด” นางสาวขัตติยากล่าว

แหล่งข่าวในวงการธนาคารกล่าวว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้อุตสาหกรรมการเงินต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะตามมา จากการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ทั้งในแง่ของรายได้และโอกาสการทำกำไรที่ลดลง เนื่องคุณภาพของลูกค้าหรือลูกหนี้ที่ด้อยลง ประกอบกับผลจากมาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่าง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดดในการหันมาเลือกใช้ดิจิทัลแบงกิ้งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้หลังจากนี้อาจจะเห็นภาพชัดมากขึ้นของการปรับเปลี่ยนและลดบทบาทการทำธุรกรรมที่สาขา ทั้งจะเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการลดต้นทุนของธนาคาร

รวมถึงภาพของการลดจำนวนพนักงาน เช่น ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้เปิดโครงการ “จากด้วยใจ” เปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความจำนงเข้าโครงการสมัครใจลาออก โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นพนักงานประจำที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ในปี 2563 โดยเปิดให้สมัครตั้งแต่ 20 เม.ย.-31 พ.ค. 2563 ด้วยข้อเสนอผลตอบแทนตั้งแต่ 4-33.3 เดือน อาทิ ผู้ที่มีอายุงานครบ 1 ปี จะได้รับผลประโยชน์รวม 4 เท่าของอัตราเงินเดือน และกรณีสูงสุดผู้ที่อายุงาน 20 ปีขึ้นไป จะได้รับผลประโยชน์รวม 33.3 เดือน สำหรับผู้ที่ผ่านการอนุมัติจะมีผลให้หยุดปฏิบัติงานตั้งแต่ 1 ก.ค. 2563

ข้อมูล/ภาพ/ที่มา ………….. ประชาชาติออนไลน์

Continue Reading
Advertisement
Advertisement

Copyright © 2020 ChonburipostOnline.Office 150/12 Village No.2 Surasak, Sriracha, Chonburi, 20110, Tel. 089 931 2068, Fax 038 328 438 Powered Tro BangKrea.